การปลดนายกรัฐมนตรี ของ วิกฤตรัฐธรรมนูญออสเตรเลีย ค.ศ. 1975

การนัดพบที่ยาร์ราลัมลา

ยาร์ราลัมลา คือชื่อเรียกที่พำนักอย่างเป็นทางการของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ในวันที่ 11 พฤศจิกายน เวลา 9 นาฬิกา วิทแลม พร้อมกับรองนายกรัฐมนตรี แฟรงค์ เครียน และผู้นำ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล เฟรด ดาลี พบกับเฟรเซอร์ และหัวหน้าพรรคชนบท ดัก แอนโธนี แต่ไม่สามารถตกลงประนีประนอมได้ วิทแลมแจ้งให้ผู้นำฝ่ายพันธมิตรพรรคทราบว่าเขาจะแนะนำให้เคอร์ประกาศให้มีการเลือกตั้งครึ่งวุฒิสภาในวันที่ 13 ธันวาคม และจะไม่ยื่นขออนุมัติงบประมาณชั่วคราวก่อนการเลือกตั้ง เฟรเซอร์ผู้คิดว่าเคอร์ไม่น่าจะยินยอมให้มีการเลือกตั้งโดยที่งบประมาณยังไม่ผ่าน จึงเตือนวิทแลมว่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อาจจะตัดสินใจในเรื่องนี้ด้วยตัวเอง แต่วิทแลมมีท่าทีไม่ใส่ใจ[73] และหลังจากการเจรจาสิ้นสุดลง เขาก็โทรหาเคอร์เพื่อขอเข้าพบ เพื่อแนะนำให้จัดการเลือกตั้งครึ่งวุฒิสภา ทั้งสองคนต่างติดภารกิจในช่วงเช้า โดยเคอร์ต้องเข้าร่วมพิธีรำลึกในวันที่ระลึก ในขณะที่วิทแลมต้องเข้าประชุมพรรคและเข้าประชุมสภาเพื่ออภิปรายญัตติตำหนิโทษที่ฝ่ายค้านเป็นผู้ยื่น ทั้งสองคนจึงนัดเวลาเข้าพบเป็น 13 นาฬิกา ในเวลาต่อมาสำนักงานของเคอร์โทรหาสำนักงานของวิทแลมเพื่อยืนยันเวลาใหม่เป็น 12.45 นาฬิกา แต่ไม่ได้มีการแจ้งนายกรัฐมนตรีให้ทราบ[74] ในการประชุมพรรค วิทแลมประกาศว่าจะขอให้มีการเลือกตั้งครึ่งวุฒิสภาให้สมาชิกพรรครับทราบ ซึ่งสมาชิกพรรคก็เห็นชอบด้วย[75]

หลังจากที่คุยกับวิทแลมเสร็จ เคอร์ก็โทรหาเฟรเซอร์ ตามคำบอกเล่าของเฟรเซอร์ เคอร์ได้ถามเขาว่า หากได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เขาจะสามารถผ่านงบประมาณและถวายคำแนะนำให้มีการยุบสองสภาและจัดการเลือกตั้งในทันทีหรือไม่ และจะหลีกเลี่ยงการประกาศนโยบายใหม่หรือตรวจสอบผลงานของรัฐบาลวิทแลมจนกว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งเฟรเซอร์เล่าว่าเขาตอบตกลง ในฝั่งของเคอร์ เขาปฏิเสธว่ามีการพูดคุยกันทางโทรศัพท์ แต่ทั้งสองคนเห็นตรงกันว่าเคอร์ถามคำถามชุดเดียวกันกับเฟรเซอร์ในวันเดียวกัน[76] ก่อนที่จะแต่งตั้งให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรี เคอร์เล่าว่า เฟรเซอร์ควรที่จะมาพบเขาที่ยาร์ราลัมลาในเวลา 13 นาฬิกา[74]

วิทแลมออกมาจากอาคารรัฐสภาช้า ในขณะที่เฟรเซอร์ออกมาก่อนล่วงหน้าเล็กน้อย ทำให้เฟรเซอร์มาถึงยาร์ราลัมลาก่อน เขาถูกพาไปที่ห้องพักข้างห้องรับแขก และรถของเขาถูกย้ายออกไปจอดที่อื่น วิทแลมมั่นใจว่าสาเหตุที่รถของเฟรเซอร์ถูกย้ายออกไปก็เพื่อไม่ให้นายกรัฐมนตรีไหวตัวทันเมื่อเห็นรถของผู้นำฝ่ายค้านจอดอยู่ โดยกล่าวว่า "หากผมรู้ว่าคุณเฟรเซอร์อยู่ที่นั่นแล้ว ผมก็คงไม่เหยียบย่างเข้าไปในยาร์ราลัมลา" แต่เคลลีกลับไม่คิดว่าวิทแลมจะจำรถฟอร์ดรุ่นแอลทีดีของเฟรเซอร์ได้[77] ตามคำบอกเล่าของฟิลิป อายเรส ผู้เขียนชีวประวัติให้กับเฟรเซอร์ เขากล่าวว่า "รถคันสีขาวถึงจะจอดอยู่ตรงนั้นก็คงไม่มีใครเห็นความสำคัญ มันก็คงเป็นเพียงรถที่ขวางทางอยู่เท่านั้น"[78]

วิทแลมมาถึงก่อน 13 นาฬิกา และถูกพาไปที่ห้องทำงานของเคอร์โดยผู้ช่วยคนหนึ่ง เขานำหนังสือถวายคำแนะนำให้มีการเลือกตั้งครึ่งวุฒิสภามาด้วย และหลังจากที่ทั้งสองคนนั่งลง ก็พยายามที่จะยื่นหนังสือนี้ให้กับเคอร์ ในคำบอกเล่าของทั้งสองคนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการเข้าพบครั้งนั้น ทั้งสองคนเห็นตรงกันว่าเคอร์เป็นคนบอกวิทแลมว่าเขาถูกถอนการแต่งตั้งจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยอาศัยอำนาจตามมาตราที่ 64 ในรัฐธรรมนูญ[79] และมอบหนังสือและแถลงการณ์ชี้แจงเหตุผลให้กับวิทแลม เคอร์เขียนในเวลาต่อมาว่า เมื่อถึงตอนนั้น วิทแลมยืนขึ้น มองไปที่โทรศัพท์ในห้องทำงาน และกล่าวว่า "ผมต้องติดต่อกับทางวังทันที"[80] แต่วิทแลมแย้งว่าเขาไม่ได้ทำเช่นนั้น หากแต่ถามเคอร์ว่าท่านได้ปรึกษาเรื่องนี้กับทางวังแล้วหรือยัง ซึ่งเคอร์ตอบว่าเขาไม่จำเป็นต้องปรึกษา และบาร์วิคเป็นผู้แนะนำให้เขาทำเช่นนี้ ทั้งสองให้คำบอกเล่าตรงกันว่าหลังจากนั้นเคอร์ได้พูดว่า พวกเขาทั้งสองคนจะต้องอยู่กับสิ่งนี้ไปตลอดชีวิต วิทแลมจึงตอบว่า "ท่านจะต้องอยู่กับมันไปตลอดชีวิตอย่างแน่นอน" เหตุการณ์ปลดนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงโดยเคอร์อวยพรให้วิทแลมโชคดีในการเลือกตั้งและยื่นมือมาให้จับ ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีก็รับมาจับไว้[81][82]

หลังจากที่วิทแลมออกไปจากห้อง เคอร์ก็เรียกให้เฟรเซอร์เข้าพบ แจ้งให้เขาทราบถึงการปลดนายกรัฐมนตรี และถามว่าเขาจะตั้งรัฐบาลรักษาการณ์หรือไม่ ซึ่งเฟรเซอร์ตอบตกลง ต่อมาเฟรเซอร์กล่าวว่าความรู้สึกที่ท่วมท้นในเวลานั้นคือความโล่งอก[78] เฟรเซอร์เดินทางกลับไปยังอาคารรัฐสภาเพื่อปรึกษากับผู้นำพันธมิตรพรรค ในขณะที่เคอร์เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันที่รอเขาอยู่ เคอร์ขอโทษแขกเหรื่อในงานและอ้างว่าเขายุ่งกับการไปปลดรัฐบาลมา[83]

ยุทธศาสตร์ในรัฐสภา

วิทแลมเดินทางกลับไปยังเดอะลอดจ์ เพื่อรับประทานอาหารกลางวัน เมื่อผู้ช่วยของเขามาถึง เขาจึงบอกให้ทราบถึงการปลด วิทแลมร่างมติให้กับสภาผู้แทนฯ เพื่อแสดงความไว้วางใจในรัฐบาลของเขา ในขณะนั้นไม่มีผู้นำวุฒิสภาของพรรคแรงงานอยู่ที่เดอะลอดจ์ ตัววิทแลมหรือคณะของเขาก็ไม่ได้ติดต่อวุฒิสมาชิกคนไหนเลยเมื่อพวกเขาขับรถกลับไปยังอาคารรัฐสภา โดยเลือกที่จะจำกัดยุทธศาสตร์ของตนอยู่ให้ในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น[84]

ก่อนที่วิทแลมจะถูกปลด คณะกรรมการบริหารพรรคแรงงานตัดสินใจที่จะยื่นญัตติให้วุฒิสภาผ่านร่างพระราชบัญญัติจัดสรรงบประมาณ และเนื่องจากบรรดาวุฒิสมาชิกพรรคแรงงานไม่ทราบถึงการปลดวิทแลม แผนการจึงยังดำเนินต่อไป วุฒิสมาชิก ดัก แม็คเคลแลนด์ ในตำแหน่งผู้จัดการกิจการของรัฐบาลพรรคแรงงานในวุฒิสภา แจ้งให้ผู้นำฝ่ายพันธมิตรพรรคในวุฒิสภา เร็ก วิทเธอร์ส ทราบถึงความจำนงของพรรคแรงงานเมื่อเวลา 13.30 น. หลังจากนั้นวิทเธอร์สเข้าประชุมผู้บริหารพรรค เขาจึงได้ทราบถึงการแต่งตั้งเฟรเซอร์เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และได้ให้คำมั่นกับนายกรัฐมนตรีว่าเขาจะสามารถผ่านงบประมาณได้ เมื่อวุฒิสภาเปิดประชุม ผู้นำพรรคแรงงานในวุฒิสภา เค็น รีดท์ ยื่นญัตติเพื่อผ่านร่าง พ.ร.บ. จัดสรรงบประมาณ เมื่อรีดท์ทำเช่นนั้น จึงมีคนบอกให้เขาทราบว่ารัฐบาลเพิ่งถูกปลด ซึ่งตอนแรกเขายังไม่ยอมเชื่อ จนกระทั่งมีคำยืนยันจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ กว่าจะถึงตอนนั้นก็เป็นเวลา 14.15 น. แล้ว ซึ่งก็สายเกินไปแล้วที่จะถอนญัตติ เขาจึงพยายามยับยั้งร่าง พ.ร.บ. จัดสรรงบประมาณของพรรคตัวเองเพื่อขัดขวางเฟรเซอร์

ณ เวลา 14.24 น. ร่างพระราชบัญญัติจัดสรรงบประมาณของพรรคแรงงานก็ผ่านวุฒิสภาในที่สุด เป็นไปตามสัญญาแรกของเฟรเซอร์ที่จะผ่านงบประมาณให้ได้[85]

ในสภาผู้แทนฯ การอภิปรายย่อยในญัตติตำหนิโทษของเฟรเซอร์ยุติลงหลังจากที่เสียงข้างมากจากพรรคแรงงานแก้มติให้เป็นการตำหนิโทษเฟรเซอร์แทน และญัตตินั้นผ่านโดยที่ทั้งสองฝ่ายลงคะแนนตามมติพรรค

ณ เวลา 14.34 น. เมื่อเฟรเซอร์ลุกขึ้นยืนและประกาศว่าเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ข่าวการปลดนายกรัฐมนตรีก็เป็นที่รู้กันไปทั้งสภาแล้ว เฟรเซอร์แสดงความประสงค์ที่จะแนะนำให้มีการยุบสองสภา และยื่นญัตติให้เลื่อนการประชุมสภา ซึ่งญัตตินั้นถูกตีตกไป รัฐบาลใหม่ของเฟรเซอร์ประสบกับความพ่ายแพ้ซ้ำ ๆ ในสภาผู้แทนฯ ซึ่งผ่านญัตติไม่ไว้วางใจในรัฐบาลของเฟรเซอร์ และขอให้ประธานสภา กอร์ดอน โชลส์ เสนอแนะให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่งตั้งวิทแลมกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โชลส์พยายามติดต่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อขอเข้าพบ ตอนแรกเขาถูกแจ้งว่าคงไม่สามารถนัดพบในวันนั้นได้ แต่หลังจากที่เขาบอกว่าจะเรียกประชุมสภาอีกครั้งและแจ้งให้ ส.ส. ทราบถึงการปฏิเสธ จึงยินยอมให้นัดพบกันเคอร์ได้ในเวลา 16.45 น.[86]

การยุบสภา

การประท้วงบนถนนจอร์จสตรีท ด้านหน้าศาลาว่าการนครซิดนีย์ ในวันที่ 11 พฤศจิกายน เวลา 18.57 น. หลังจากข่าวการปลดนายกรัฐมนตรีได้แพร่ออกไป

หลังจากที่ร่างพระราชบัญญัติจัดสรรงบประมาณผ่านทั้งสองสภาแล้ว จึงถูกส่งไปยังยาร์ราลัมลาเพื่อให้เคอร์เป็นผู้แทนพระองค์ในการพระราชทานพระบรมราชานุญาต เมื่องบประมาณผ่านแล้ว เคอร์จึงให้เฟรเซอร์เข้าพบ เฟรเซอร์แนะนำว่าร่างพระราชบัญญัติ 21 ฉบับ (รวมถึงร่างพระราชบัญญัติกำหนดเขตเลือกตั้งใหม่) ถูกยื่นเข้าสู่สภาตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ทำให้ตรงกับเงื่อนไขในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่อนุญาตให้มีการยุบสองสภาได้ตามมาตรา 57 เฟรเซอร์จึงขอให้ยุบทั้งสองสภา และให้จัดการเลือกตั้งในวันที่ 13 ธันวาคม เคอร์ลงนามในคำประกาศยุบสภา และส่งเลขาธิการสำนักงานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เดวิด สมิธ ไปเป็นผู้อ่านคำประกาศยุบสภาจากขั้นบันไดหน้าอาคารรัฐสภา[87]

ณ เวลา 16.45 น. เคอร์ให้โชลส์เข้าพบ และแจ้งให้เขาทราบถึงการยุบสภา เคอร์เขียนว่า "ไม่มีเรื่องอื่นที่สำคัญ" เกิดขึ้นในการเข้าพบครั้งนั้น[88] แต่โชลส์เล่าว่า เขากล่าวหาเคอร์ว่ามีเจตนาร้ายที่นัดพบกับประธานสภาโดยไม่รอให้มีการปรึกษาพูดคุยกับเขาก่อนที่จะยุบสภา วิทแลมกล่าวในเวลาต่อมาว่าคงจะฉลาดกว่าหากโชลส์นำร่างพระราชบัญญัติจัดสรรงบประมาณไปด้วยแทนที่จะส่งไปก่อนล่วงหน้า[86] การกระทำเช่นนี้ของเคอร์เป็นไปตามคำแนะนำที่เขาได้รับจากผู้พิพากษาศาลสูงสองคน (เมสันและประธานศาลสูงบาร์วิค) และอัยการแผ่นดิน (เอ็นเดอร์บีและไบเออร์ส)[89]

ระหว่างที่โชลส์และเคอร์พูดคุยกัน สมิธก็เดินทางมาถึงอาคารรัฐสภา ในเวลานั้นการปลดนายกรัฐมนตรีเป็นที่ทราบต่อสาธารณะแล้ว และมีกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคแรงงานที่โกรธแค้นมาร่วมชุมนุมที่หน้าอาคารรัฐสภามากขึ้นเรื่อย ๆ จนเต็มขั้นบันไดหน้าอาคารและล้นทะลักออกไปบนถนนและเข้าไปด้านในอาคารรัฐสภา[90] ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่จากพรรคแรงงาน อีกส่วนหนึ่งมาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย[91] สมิธจึงต้องเดินเข้าอาคารรัฐสภาจากประตูด้านข้างและเดินออกมาตรงขั้นบันไดจากด้านในอาคาร เขาอ่านคำประกาศท่ามกลางเสียงโห่ของฝูงชนที่ดังจนเสียงเขาถูกกลบไป และลงท้ายด้วยคำว่า "ขอให้พระเจ้าคุ้มครององค์พระราชินี" (God Save the Queen) ตามธรรมเนียม อดีตนายกรัฐมนตรีวิทแลมที่ยืนอยู่ข้างหลังสมิธ จึงแถลงต่อฝูงชนดังนี้[92]

พวกเราอาจพูดได้ว่า "ขอให้พระเจ้าคุ้มครององค์พระราชินี" เพราะไม่มีสิ่งใดจะคุ้มครองผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ คำประกาศที่พวกคุณเพิ่งได้ยินเลขาธิการสำนักงานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อ่านไป ลงนามกำกับโดยมัลคอล์ม เฟรเซอร์ ผู้ที่จะต้องถูกจารึกลงในประวัติศาสตร์ออสเตรเลียในวันที่ระลึกปี 1975 ว่าเป็นสุนัขรับใช้เคอร์ (Kerr's cur) พวกเขาจะไม่ทำสามารถให้เสียงรอบอาคารรัฐสภาเงียบลงได้ แม้ว่าภายในอาคารจะเงียบมาสองสามสัปดาห์แล้ว รักษาความโกรธแค้นและความแข็งขันของพวกคุณเอาไว้สำหรับการหาเสียงเลือกตั้งตั้งแต่นี้เป็นต้นไปจนกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง[93][94]

แหล่งที่มา

WikiPedia: วิกฤตรัฐธรรมนูญออสเตรเลีย ค.ศ. 1975 http://www.crikey.com.au/2015/11/11/what-the-queen... http://www.theage.com.au/national/how-one-strong-w... http://www.theage.com.au/news/general/nothing-will... http://www.theaustralian.com.au/in-depth/cabinet-p... http://www.theaustralian.com.au/news/inquirer/whit... http://adb.anu.edu.au/biography/cain-john-9661 http://primeministers.naa.gov.au/primeministers/wa... http://www.nla.gov.au/amad/nla.oh-vn1791129?search... http://www.abc.net.au/7.30/content/2005/s1479968.h... http://www.abc.net.au/am/content/2005/s1499058.htm